คุณสมบัติผู้กู้และหลักเกณฑ์การให้กู้ซื้อบ้าน
คุณสมบัติของผู้กู้
* อายุ * อาชีพ * รายได้ * ผู้กู้ร่วม * ประวัติเครดิต/ประวัติการชำระหนี้
คุณสมบัติของผู้กู้ส่วนใหญ่ธนาคารมักจะกำหนดคล้ายๆ กัน เช่น มีอายุระหว่าง 20-70 ปี มีรายได้ที่แน่นอน กรณีเป็นพนักงานประจำต้องมีรายได้ขั้นต่ำ 10,000 บาทต่อเดือน หรือกรณีเป็นเจ้าของกิจการต้องมีรายได้ขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือน และหากมีประวัติการเงินโอนเข้าบัญชีอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงเงินออมต่างๆ ที่สามารถแสดงถึงวินัยที่ดีในการใช้เงินด้วยแล้ว ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการประกอบการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารอีกด้วย
ในเรื่องของการกู้ร่วมควรศึกษาเงื่อนไขของแต่ละธนาคารว่า นอกจากบุคคลในครอบครัวเดียวกันและคู่สมรสแล้ว บางธนาคารยังอนุโลมให้ผู้ร่วมกู้เป็นบุคคลอื่นได้ด้วย เช่น คู่หมั้น คู่รัก เป็นต้น อีกทั้งต้องผ่านการตรวจสอบประวัติเครดิต ซึ่งแต่ละธนาคารจะเรียกร้องข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) รวมถึงหลักเกณฑ์อื่นๆ ของแต่ละธนาคารมาใช้พิจารณาประกอบเพื่อดูประวัติการชำระหนี้ของลูกค้า
หลักเกณฑ์การให้กู้
* หลักทรัพย์ที่เป็นที่อยู่อาศัย * รายได้และภาระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อ
ปกติธนาคารจะให้วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อราคาประเมินหลักทรัพย์ประมาณ 70-95% ของราคาประเมินหรือราคาซื้อขายแล้วแต่ราคาไหนจะต่ำกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของหลักทรัพย์ เช่น ที่ดินเปล่า อาคารพาณิชย์มักจะได้วงเงินต่ำกว่าบ้านหรือคอนโดฯ ซึ่งการพิจารณาวงเงินสินเชื่อโดยทั่วไปจะพิจารณา 2 ส่วนประกอบกัน นั่นคือความสามารถของผู้ขอสินเชื่อ (ได้แก่ รายได้ ภาระหนี้ เป็นต้น) และหลักทรัพย์ที่จะนำมาเป็นหลักประกัน (ได้แก่ ประเภท ตำแหน่งที่ตั้ง บริษัท เจ้าของโครงการ เป็นต้น) (จะ) ขอสินเชื่อได้เท่าไร
* รายได้ * ภาระหนี้ (บ้าน รถยนต์ บัตรเครดิต) * ผู้กู้ร่วม
จะขอสินเชื่อได้เท่าไรนั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละคน เช่น ปกติธนาคารจะให้วงเงินสินเชื่อประมาณ 30-50 เท่าของรายได้สุทธิต่อเดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาชีพของผู้กู้และฐานรายได้ เช่น ถ้าเป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทเอกชนที่มั่นคง หรือมีรายได้สูงก็จะได้วงเงินสินเชื่อมาก แต่สุดท้ายจะขอสินเชื่อได้เท่าใดนั้นอยู่ที่จะสามารถผ่อนได้เท่าไร ถึงจะมีรายได้มากแต่ถ้ามีภาระเยอะก็จะกู้ได้น้อย เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนบัตรเครดิต ฯลฯ หนี้เหล่านี้จะถูกนำมาคำนวณเป็นค่าใช้จ่าย อาทิ หนี้บ้าน หนี้รถ ใช้อัตราผ่อนต่อเดือนมาคำนวณ ส่วนหนี้บัตรเครดิตใช้ 10% ของยอดหนี้มาคำนวณ
หากวงเงินที่ธนาคารอนุมัติมานั้นไม่ตรงกับที่ต้องการก็อาจจำเป็นที่จะต้องลดราคาบ้านที่จะซื้อ หรือขอวงเงินสินเชื่อให้น้อยลงกว่านี้ หรือไม่ก็ต้องหาผู้กู้ร่วมมาช่วยผ่อน เนื่องจากในกรณีของการมีผู้กู้ร่วม การคำนวณพิจารณาสินเชื่อจะนำทั้งรายได้และภาระหนี้ของผู้กู้ร่วมมาพิจารณาร่วมด้วย จึงเป็นโอกาสให้ได้รับวงเงินที่สูงขึ้น
อีกสิ่งที่สำคัญคือการผ่อนชำระหนี้ให้ตรงเวลา เนื่องจากจะถูกบันทึกลงในประวัติทางการเงิน ซึ่งแต่ละธนาคารจะต้องเรียกประวัติเหล่านี้ขึ้นมาร่วมประกอบการพิจารณาสินเชื่อด้วย ดังนั้นการมีวินัยดีกับการมีภาระหนี้ที่ไม่มากขณะที่ขอสินเชื่อก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยในการขอสินเชื่อได้
ปัจจุบันมีโปรแกรมคำนวณที่เราสามารถคำนวณด้วยตนเอง เพื่อให้สามารถเข้าใจรายละเอียดก่อนจะปรึกษาธนาคารสักแห่ง โดยโปรแกรมเหล่านี้จะช่วยให้เรารู้ว่ารายได้และภาระหนี้ที่เรามีอยู่จะสามารถขอสินเชื่อได้วงเงินเท่าใด ต้องผ่อนชำระต่อเดือนเท่าไร และต้องผ่อนชำระด้วยระยะเวลานานเท่าไร อีกทั้งบางโปรแกรมยังให้สามารถใส่รายได้และภาระหนี้ของผู้กู้ร่วมได้อีกด้วย ดังเช่น Home’n Cash ซึ่งมีบริการทั้งในเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นบนระบบ iOS และ Android ให้ดาวน์โหลดมาใช้ได้
ที่มา : นิตยสาร DG ฉบับที่ 143 August 2014
วันที่แก้ไขข้อมูลล่าสุด : 29 กันยายน 2560